สถานที่ท่องเที่ยว
สุสานมรหุ่ม (สุสานสุลต่าน สุไลมาน)
สุลต่าน สุไลมาน (พระเจ้าเมืองสงขลาที่๑)
พระเจ้าเมืองสงขลา หรือ สุลต่าน สุไลมาน เป็นเจ้าเมืองสงขลาสมัยอยุธยาระหว่างปี พ.ศ. 2162-2211 เป็นผู้สร้างเมืองสงขลาริมเขาแดง ซึ่งรุ่งเรืองอยู่ระหว่างครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 2 ถึงตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ความรุ่งเรืองของเมืองสงขลายุคนี้ เกิดจากการขยายตัวทางด้านการค้าของดัตช์ อังกฤษและฝรั่งเศสเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะบริเวณแหลมมาลายูและหมูเกาะอินโดนีเซียหรือเรียกกันสมัยนั้นว่า “หมู่เกาะอินเดียตะวันออก” เรื่องราวของเมืองสงขลายุคนี้ ส่วนใหญ่จึงปรากฏในเอกสารของชนชาติเหล่านั้น น่าแปลกใจที่ไม่มีเอกสารร่วมสมัยของฝ่ายไทยกล่าวถึงเรื่องนี้เลย มีเฉพาะพงศาวดารเมืองสงขลา ซึ่งเขียนขึ้นตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 25 เท่านั้น ที่กล่าวไว้อย่างง่ายๆ ในเอกสารของชาวตะวันตก เรียกชื่อพระเจ้าเมืองสงขลาแตกต่างกัน เป็นต้นว่าของดัตช์ เรียกว่า “โมกุล” ของอังกฤษเรียกว่า “ดะโต๊ะ โมกอลล์” ในขณะที่ทางฝ่ายไทยโดยเฉพาะพงศาวดารเมืองสงขลา เรียกว่า “สุลต่าน สุเลมัน” และชาวเมืองสงขลารู้จักจากเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาว่า “สุลต่าน สุไลมาน”หรือ “ตามรหุม”
Post by: Admin Page
28/04/2024
เป็นป้อมเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น เมื่อ พ.ศ. 2189 เป็นป้อมปราการที่แข็งแรงมาก กองทัพกรุงศรีอยุธยายกมาตีถึง 3 ครั้ง จึงสามารถตีได้ เป็นป้อมที่ก่อด้วยอิฐและหินถือปูน รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ละด้านมีช่องเสมาสำหรับวางปืนใหญ่ 3 ช่อง เป็นป้อมที่ได้รับอิทธิพลของชาติตะวันตก
ป้อมหัวเขาแดงเป็นแหล่งอารยธรรมและประวัติศาสตร์ของจังหวัดสงขลา ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า “ซิงกอรา” หรือ “เมืองสิงขร”
ในอดีตย่านนี้เป็นเมืองท่าโบราณที่เจริญมั่งคั่งด้านการค้า โดยเฉพาะในสมัยสุลต่านสุไลมาน ตรงกับสมัยพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา ผังเมืองสงขลาเก่าหัวแดงออกแบบโดยวิศวกรชาวฝรั่งเศส มีลักษณะเป็นเมืองสี่เหลี่ยม มีป้อมปืนใหญ่รวมทั้งสิ้น 18 ป้อม กั้นเป็นปราการป้องกันการรุกล้ำของข้าศึกที่เดินทางมาทางทะเลจากอ่าวไทย ทะเลจีนใต้ ปัจจุบันสามารถขึ้นไปชมเค้าโครงของป้อมปราการนี้ได้ ในบริเวณป้อมเขาหัวแดงยังสามารถชมทัศนียภาพในมุมสูงของชุมชนเขาหัวแดง ริมทะเลสาบสงขลา ซึ่งมองเห็นได้ไกลถึงตัวเมืองสงขลา ที่ตั้งอยู่อีกฝั่งของทะเลสาบอีกด้วย
Post by: Admin Page
28/04/2024
มัสยิดยาบัลโรดเหร๊าะหม๊ะ(มัสยิดใหญ่บ้านหัวเขา)
ประวัติ
จากการศึกษาของนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คาดว่ามัสยิดยาบัลโรดเหร๊าะหม๊ะ สร้างในราวรัชสมัยของสุลตาน สุลัยมาน ชาฮ์ (ประมาณ พ.ศ. ๒๑๗๓-๒๒๐๓) เมื่อมีการยกเขตรอบนอกเมืองสิงหนครเป็นเมืองหน้าด่านทางทะเลสาบสงขลาสำหรับกันทัพเรือของเมืองปัตตานี ต่อมาเป็นมัสยิดร้างเสียเมื่อคราวสมัยสุลตานมุซตาฟา ชาฮ์ ทำสงครามพ่ายแพ้แก่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา มัสยิดหลังแรกซึ่งสร้างในรัชสมัยสุลตานสุลัยมาน ชาฮ์นั้น เข้าใจกันว่าสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง แต่ปูพื้นด้วยกระเบื้องแบบไทย ขนาดกระเบื้องเป็นรูปจตุรัสกว้างยาวประมาณ ๑ ศอกยังปรากฏหลักฐานมาจนถึงปัจจุบันนี้
ประวัติมัสยิดยาบัลโรดเหร๊าะหม๊ะ หลังปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๐ มัสยิดหลังเก่าได้อยุ่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลา นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี(ในขณะนั้นเป็นดะโตะอิหม่าม มัสยิดยาบัลโรดเหร๊าะหม๊ะ) จึงได้มีการประชุมสัปบุรุษอีกครั้งปรากฏตามจดหมายเหตุความว่า จึงดาโตะอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ธรรมการประจำมัสยิดทั้งนั้น ก็ปฤกษากิจการด้วยปวงสัปบุรุษแห่งเมืองสิงหนคร กับทั้งพ่อค้าวาณิชย์ทั้งไทย มลายู จีน อาหรับ เห็นพร้องต้องกันให้ขยายเขตมัสยิดออกไป จึงพ่อค้าชาวอาหรับชื่อเชคอับดุลลาตีฟ ได้มีศรัทธาบริจาคเงินกองหนึ่งเป็นทุน สำหรับให้ก่อสร้างมัสยิดอันเป็นถาวรสืบไป ครั้นปฤกษากันแล้วเสร็จ ดาโตะอิหม่าม อาศิล พิทักษ์คุมพล ก็ปฤกษาให้ครูเยื้อน โรงเรียนบ้านหัวเขาเขียนโครงมัสยิด ให้มีโดมอย่างสูงตามอย่างมัสยิดในนครเมกกะ๑ โดมกว้างตามแบบนครมะดีนะ๑ แล้วให้มีโดมตามแบบไทยเป็นจตุรัส๑ กระเบื้องมุงนั้นท่านสั่งมาแต่เมืองเพชรทั้งสิ้น ปัจจุบันมัสยิดยาบัลโรดเหร๊าะหม๊ะ ทรุดโทรมลงตามกาลเวลาอันเนื่องมาจากขาดการบูรณะมาเป็นเวลาเกือบ ๓๐ ปี แต่มัสยิดนี้ก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์อย่างเดิมไว้ทุกประการ
Post by: Admin Page
28/04/2024
สวนองุ่นจอมทอง ต.สทิงหม้อ อ.สิงหนคร จ.สงขลา ถือฤกษ์ดี 19 พ.ย.เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้าไปเที่ยวชมและถ่ายภาพช่อองุ่นที่น่ากินมาก โดยมีกฎห้ามจับและเด็ดลูกองุ่นเท่านั้น โดยมีองุ่นที่ปลูกไว้ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2560 ในพื้นที่ 494 ตารางเมตร หลากหลายสายพันธุ์ จำนวน 225 ต้น ใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ
Post by: Admin Page
28/04/2024
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสตรีชุมชนตำบลหัวเขา
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสตรีชุมชนตำบลหัวเขาจัดตั้งขึ้นเพื่อให้กลุ่มสตรีในชุมชนมีรายได้และช่วยในการโปรโมทชุมชนในพื้นที่ตำบลหัวเขา
Post by: Admin Page
28/04/2024
บ่อเก๋ง คือ ปราการรักษาด้านหน้าของเมืองสงขลาเก่า ที่ตั้งอยู่ฝั่งแหลมสน สร้างขึ้นประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 24 ประกอบด้วยเชิงเทิน ที่ตั้งปืนใหญ่ อาคารที่พักของผู้รักษาป้อม บ่อน้ำและซุ้มประตู เมื่อมีการย้ายเมืองสงขลามายังฝั่งบ่อยาง (ตัวเมืองสงขลาในปัจจุบัน) ได้มีการสร้างป้อมปากแม่น้ำแหลมทราย เพื่อคอยป้องกันเมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง ปราการบ่อเก๋งจึงถูกปล่อยร้างไป ปัจจุบันภายในบริเวณ "บ่อเก๋ง" ยังมีซากโบราณสถานสิ่งหนึ่ง ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ นั่นคือ "ซุ้มประตู" ซึ่งสร้างด้วยอิฐถือปูน มีสันหลังคาโค้งงอน ซึ่งลักษณะดังกล่าวปรากฏในกลุ่มอาคารทางตอนใต้ของจีน เช่น ในเขตเฉาซ่าน เขตหมิ่นหนาน การปรากฎลักษณะสถาปัตยกรรมดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าชาวจีนฮกเกี้ยนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณเขาหัวแดงด้วย ทั้งนี้กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2542 ที่มา : กรมศิลปากร
Post by: Admin Page
28/04/2024
วัดบ่อทรัพย์ ตั้งอยู่ ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตามทะเบียนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่า ตั้งวัด พ.ศ. 2360 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2400 วัดบ่อทรัพย์ สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จากรูปแบบศิลปกรรมสามารถสันนิษฐานได้ว่า น่าจะเป็นวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งในสมัยที่เมืองสงขลาตั้งเมืองอยู่บริเวณฝั่งแหลมสน
Post by: Admin Page
28/04/2024
การเดินทางระหว่างอำเภอสิงหนครและอำเภอเมืองสงขลา เราต้องเดินทางข้ามทะเลสาปสงขลา ซึ่งการเดินทางด้วยแพขนานยนต์ เป็นวิธีการเดินทางที่ได้รับความนิยมและมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ใช้เวลาอยู่บนแพประมาณ 5-10 นาที ท่าแพขนานยนต์สงขลา ตั้งอยู่ตรงไหน ฝั่งอำเภอสิงหนคร ท่าแพขนานยนต์จะตั้งอยู่บริเวณหัวเขาแดง ฝั่งอำเภอเมือง ท่าแพขนานยนต์จะตั้งอยู่บริเวณแหลมสนอ่อน
ท่าแพขนานยนต์ฝั่งสิงหนคร ตั้งอยู่ในตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
Post by: Admin Page
28/04/2024